ภูมิหลัง ของ โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ก่อนที่จะมีโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลนี้ เคยมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก่อนแล้วหลายโครงการในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ครม.61 และ ครม.62) เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (พ.ศ. 2560 - 2561), ชิมช้อปใช้ (พ.ศ. 2562), เราไม่ทิ้งกัน (พ.ศ. 2563) และ คนละครึ่ง (พ.ศ. 2563 - 2564) ซึ่งโครงการเหล่านี้เน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยว และการบริโภคของประชาชนผู้มีรายได้ปานกลาง และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดทั่วประเทศของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และรัฐบาลวางโครงสร้างพื้นฐานการใช้ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว[1]

จุดเริ่มต้นมาจากการประกาศของแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในงานเปิดตัว "ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม" ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ประกาศว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งถัดไป จะดำเนินการเติมเงินให้กับประชาชนทั่วประเทศอย่างมีเกียรติ และทำให้ประชาชนภาคภูมิใจ[2]

ต่อมาในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศนโยบายเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลอย่างเป็นทางการ โดยจะเติมเงินให้กับประชาชนสัญชาติไทยทุกคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน แต่ใช้จ่ายได้เฉพาะร้านค้าชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตร มีอายุการใช้งาน 6 เดือน ซึ่งร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารของรัฐในภายหลัง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชน และนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับประเทศ[3]

จากนั้น เศรษฐาได้ประกาศจำนวนเงินเมื่อวันที่ 5 เมษายน ในงาน "คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน One Team for all Thais : หนึ่งทีมเพื่อไทยทุกคน" ว่า ประชาชนจะได้รับเงินเข้ากระเป๋าดิจิทัลตามเงื่อนไขข้างต้นเป็นจำนวนคนละ 10,000 บาท[4] โดยต่อมา พรรคเพื่อไทยได้แจ้งที่มาของแหล่งเงินทุนในการดำเนินโครงการให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า มาจากการบริหารงบประมาณ และการเก็บภาษี ประกอบด้วย

  1. ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2567 : 260,000 ล้านบาท
  2. ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท
  3. การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. 2567 : 110,000 ล้านบาท
  4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน : 90,000 ล้านบาท

โดยคิดเป็นเงินจำนวน 560,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ[5]

ภายหลังจากเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาตามเกณฑ์ที่กำหนด และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 เศรษฐาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทโดยเฉพาะ[6] โดยเศรษฐาได้ประกาศว่าจะเริ่มต้นโครงการนี้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[7] และในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เศรษฐาได้แถลงว่าโครงการนี้เป็น 1 ใน 5 นโยบายระยะเร่งด่วนของรัฐบาล[8]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท https://www.prachachat.net/finance/news-1376201 https://workpointtoday.com/politics-patongtan20325... https://workpointtoday.com/election-pheuthai-3/ https://thestandard.co/srettha-digital-wallet-poli... https://www.thairath.co.th/news/politic/2719807 https://www.bbc.com/thai/articles/cnlzk89n9eqo https://www.tnnthailand.com/news/politics/155252/ https://thaipublica.org/2023/09/borrow-money-gsb-g... https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2566/P_409... https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2566/P_409...